แม้ “อี-วอลเล็ท” หรือ กระเป๋าเงินออนไลน์ จะเกิดขึ้นในเมืองไทยไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นจากบรรดาโอเปอเรเตอร์มือถือ ที่ปัจจุบันมีครบทุกเจ้าแล้ว ทั้ง เอไอเอส เอ็มเปย์, ดีแทค แจ๋ว วอลเล็ต, หรือ ทรูมันนี่ วอลเล็ท และยังมีผู้ให้บริการรายอื่นๆที่เห็นโอกาส ได้เข้ามาแย่งก้อนเค้กชิ้นนี้อีกไม่น้อยกว่า 10 ราย
“เงินสด” ซื้อง่าย จ่ายคล่องกว่าเยอะ
แต่ดูเหมือนว่า อี-วอลเล็ท จะไม่ “ปัง” เท่าที่ควร แม้จะมี 4G เข้ามาดันกระแสการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยให้มากขึ้น รวมถึงเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2015 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ หลักการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) เพื่อดันให้เมืองไทยเป็น “Cashless Society หรือ สังคมไร้เงินสด” ก็ตามที
นั้นเพราะอย่างที่รู้กัน สังคมไทยในทุกวันนี้ยังเป็น Cash Economy หรือสังคมเงินสดอยู่เลย สราญรัตน์ ศรีจิรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการ “ทรูมันนี่ วอลเล็ท” กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของตลาด อี-วอลเล็ท ในขณะนี้ คือ การที่คนไทยยังไม่เห็นความแตกต่างระหว่างใช้เงินสดกับกระเป๋าเงินออนไลน์ โดยมองอีกว่า เงินสด ซื้อง่าย จ่ายกล่อง และไม่ยุ่งยาก ที่สำคัญไม่ต้องกลัวโดนโกงเพราะเห็นอยู่กับตา
จะดึงผู้ใช้ ก็ต้องสร้าง “ความต่าง”
เมื่อโจทย์ใหญ่คือความแตกต่างที่ยังไม่ชัดเจน ทรูมันนี่ วอลเล็ท จึงเริ่มแก้สมการนี้ด้วยการเจรจากับเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ ให้สามารถชำระเงินด้วย ทรูมันนี่ วอลเล็ท ซึ่งได้สร้างการรับรู้ใหม่ให้กับผู้บริโภคว่า E-Walletไม่ได้จำเป็นแค่ใช้จ่ายบิล หรือเติมเงินเกมออนไลน์เท่านั้น
นอกเหนือจากการอยู่ในเครือเดียวกันแล้ว สราญรัตน์ ให้เหตุผลที่เลือก เซเว่น อีเลฟเว่น ว่า เพราะ เซเว่น อีเลฟเว่น มักจะทอนเงินด้วยเหรียญ ซึ่งได้สร้างความยุ่งยากในการพกเหรียญที่บางครั้งมีจำนวนเยอะ หากการจ่ายด้วย ทรูมันนี่ วอลเล็ท ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป
เพียงแต่ไม่ต้องพกเหรียญอาจจะไม่พอที่จะดึงผู้บริโภคให้มาสนใจ ดังนั้น ทรูมันนี่ วอลเล็ท จึงได้ใช้กลยุทธ์สิทธิพิเศษที่คนไทยชื่นชอบ ได้แก่การซื้อสินค้าในราคาที่ถูกกว่า หรือสะสมแต้มเพื่อแลกของที่ระลึก เมื่อเป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภครายอื่นๆ ซึ่งจะเกิดการบอกปากต่อปากจากผู้ที่เคยใช้ โดย สราญรัตน์ บอกว่า นี่คือกลยุทธ์ที่ให้ผลดีกว่าการทำโฆษณาเสียด้วยซ้ำ
แต่ทั้งนี้ ทรูมันนี่ วอลเล็ท ได้วางแผนที่จะไม่ขยายบริการไปยังร้านสะดวกซื้อรายอื่นๆ เพราะถือเป็นคู่แข่งของ 7-Eleven โดยตรง
ตั้งตัวแทนหาร้านให้ได้ 100,000
การเจาะเข้าสู่ เซเว่น อีเลฟเว่น ได้ทำให้ปัจจุบัน ทรูมันนี่ วอลเล็ท มีร้านค้าที่สามารถชำระเงินทั้งหมด 12,000 ร้านค้า ซึ่ง สราญรัตน์ มองว่า เท่านี้ยังไม่พอ เพราะหากจะดันให้เกิดก็ต้องขยายจุดชำระเงินให้ครอบคลุมกว่านี้ ไม่งั้นผู้บริโภคก็จะเลิกใช้เพราะไม่มีจุดให้บริการ โดนดึงให้ร้านค้าออฟไลน์หันมารับชำระเงินด้วยออนไลน์
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการแต่งตั้งตัวแทนผู้จัดหาเครือข่าย ในการรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการกระเป๋าเงินออนไลน์เพิ่มขึ้นอีก 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด, บริษัท ฮวนยูจิ จำกัด, บริษัท จีมู่ อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท เพย์วิง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด โดยเน้นหาร้านที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค
คาดว่าทั้ง 6 บริษัทจะช่วยเพิ่มจุดชำระเงินให้เป็น 100,000 ร้านค้าภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงเพิ่มจำนวนแอคทีฟยูสเซอร์จาก 2 ล้านยูสเซอร์เป็น 4 ล้านยูสเซอร์ และที่สำคัญเพิ่มยอดการใช้งานจาก 5-6 ครั้ง/คน/เดือน เป็น 10-12 ครั้ง/คน/เดือน อีกด้วย
แม้เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนร้าน แอคทีฟยูสเซอร์ และยอดการใช้งานก็ตาม แต่ ทรูมันนี่ วอลเล็ท ยังมีจุดอ่อนตรงที่ยังไม่สามารถผูกกับบัตรเครเดิตได้ ซึ่งแม้จะแก้เกมด้วยการเปิดให้เติมเงินผ่าน7-Eleven ทว่ายังไม่ราบรื่นดีนัก เพราะอย่าลืมว่าพนักงานเซเว่นเปลี่ยนคนไปเรื่อยๆไม่ค่อยทำงานนานๆ ปัญหาจึงอยู่ที่พอเป็นคนใหม่จึงยังไม่เข้าใจวิธีใช้งานที่ดีนัก อีกอย่างหนึ่งคือการเติมเงินยังถูกจำกัดยอดต่อสาขา เมื่อต้องการเติมเงินที่มากกว่าที่กำหนดก็ต้องไปอีกสาขาถัดไป
“อาลีเพย์ วอลเล็ท” ขอไปด้วย
หากสังเกตดีๆจะเห็นว่าใน 6 บริษัทที่ถูกแต่งตั้งไม่ได้เป็นบริษัทไทยทั้งหมด หากยังมีบริษัทจากจีนเข้ามารวมอยู่ด้วยถึง 3 บริษัท ซึ่งที่เป็นอย่างนั้นเพราะในปัจจุบัน “แอสเซนด์กรุ๊ป” ที่เป็นบริษัทแม่ของ ทรู มันนี่ ได้ถูกถือหุ้นโดยอาลีเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล และแอนท์ ไฟแนนเชียล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบชำระเงินออนไลน์ผ่านโทรศัพท์ “อาลีเพย์ วอลเล็ท” และเป็นบริษัทในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซจากประเทศจีน ถึง 20% โดยเข้ามาถือหุ้นได้ช่วยเติมเต็มKnow-how ในระบบหลังบ้านที่ทรูมันนี่ วอลเล็ท ขาดอยู่
เช่นกัน อาลีเพย์ วอลเล็ท เชื่อว่าทั้ง 6 บริษัทจะช่วยให้ อาลีเพย์ วอลเล็ท สามารถขยายร้านค้าจาก 15,000 ร้านค้า เป็น 100,000 ร้านค้าภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเน้นร้านค้าที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เดินทางเข้ามาไทยถึงปีละ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้มีการใช้งาน อาลีเพย์ วอลเล็ท อยู่ราว 5-6 ล้านคน
ซึ่งแสดงว่า หลังจากนี้เห็น “ทรูมันนี่ วอลเล็ท” ที่ไหน ก็จะเห็น “อาลีเพย์ วอลเล็ท” ที่นั้นด้วย