ไม่นานมานี้ ธีรนันท์ ศรีหงส์ เคยเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ที่เป็นกรรมการผู้จัดการคู่แรกในวงการธนาคารไทย และยังเป็นประธานบริษัท บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด ที่สร้างความฮือฮาด้วยสำนักงานใหญ่สุดล้ำยุครับสมัยดิจิทัลที่เมืองทองธานี
แต่ในวันนี้ นามบัตรใหม่ของ “คุณก้อง” ธีรนันท์ ศรีหงส์ คือกรรมการผู้จัดการ บริษัท CELAR CONSULTING บริษัทเล็กๆ ที่ออกมาตั้งเองหลังลาออกจากธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศ
บริษัทใหม่ที่ยังเล็กแต่ดูเหมือนว่าบทบาทของการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการวางยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลในหลายๆบริษัทของเขาไม่ได้เล็กตามไปด้วยเลย
การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารของแบงก์ใหญ่ที่คนรู้จักทั้งประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนั่นหมายถึงการเดินออกจากความมั่นคงที่สุดของชีวิตหน้าที่การงาน กำลังโบกมือลาเงินเดือนก้อนโต ห้องทำงานที่หรูหราสวยงาม ออกไปเจอกับก้าวใหม่ที่ไม่แน่นอน ที่มีเเต่ครอบครัวคอยเป็นกำลังใจ
แต่เป็นเพราะเขามั่นใจในประสบการณ์ของการทำงานที่ยาวนานถึง28 ปีในธนาคารกสิกรไทย โดยเฉพาะในช่วงหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันที่เขาลาออกเมื่อเดือนเมษายน 2560 นั้น เป็น 20 ปีที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงและสร้างสิ่งใหม่ๆในองค์กรหลายๆเรื่องอย่างต่อเนื่องเช่น การเกิดขึ้นของ Corporate Banking การพลิกโฉมองค์กร ด้วย K- Transformation รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เพื่อรับมือกับสตาร์ทอัพและฟินเทค
ธีรนันท์จึงมีความคุ้นเคยทั้งเรื่อง Hard Side ว่าต้องวางระบบอย่างไร มีกระบวนการทำงานอย่างไร เอาฮาวทู อะไรใส่ลงไป รวมทั้ง Soft Side ว่าต้องทำงานกับคนอย่างไรเพื่อให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ผู้บริหารองค์กรจำเป็นต้องมีอย่างยิ่งในช่วง Digital transformation
ลาออกก่อนที่จะตามโลกไม่ทัน
เมื่อย้อนถามถึงเหตุผลในการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต เขาอึ้งไปนิดๆ ก่อนจะหัวเราะและตอบว่าหลักๆที่ออกมาเพราะทำงานแบงก์มานานมาก และตอนนี้ตลาดได้สร้างโอกาสให้ทำอะไรใหม่ๆได้อีกมากมายที่ท้าทาย ส่วนรายละเอียดลึกๆมากกว่านี้เขาขอไม่พูดถึง ยอมรับว่าอาจจะมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น
“ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่จะออกมาตอนนี้ ออกมาช้ากว่านี้อายุก็ยิ่งมาก เดี๋ยววิ่งไม่ทันโลก แต่ตอนนั้นพอคิดแบบนี้แล้วต้องหยุดคิด คิดต่อไม่ได้ เพราะในขณะที่อยู่ในตำแหน่งเราควรจะให้เวลาแบบ 7 คูณ 24 ถ้ามัวแต่คิดเรื่องนี้โดยที่ยังรับเงินเดือนขององค์กรอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องที่แฟร์นัก แต่ถ้าไม่คิดก็ไม่แฟร์กับตัวเอง ถ้ายังงั้นลาออกเลยดีกว่าเพื่อมีเวลาคิด และทำกับมันอย่างจริงจัง”
หลังจากลาออกก็มีข่าวลือมากมายว่าเขาจะไปอยู่บริษัทโน้น บริษัทนี้ รวมทั้งแบงก์คู่แข่ง
“ไม่ได้ไปไหนเลยครับ ตอนนั้นในหัวมีแต่ไอเดียฟุ้งๆ อยากทำโน่นนี่ แต่ไม่มีอะไรชัดเจน ลาออกเดือนเมษายนพอเดือนพฤษภาคม มีเวลาเลยพาครอบครัวไปเที่ยวเบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ไปเมืองเล็กๆน่ารักๆ พอเดือนมิถุนามีตั๋วแลกไมล์ไว้ตอนแรกจะเอาไว้เรียนหนังสือ พอออกจากงานแล้วไม่เรียนดีกว่า เลยเป็นตั๋วพาแม่ไปเที่ยวสวิสกับอิตาลีอีกทริปหนึ่ง”
เริ่มงานที่แรกกับแสนสิริ
กลับมาจากการไปเที่ยวทริปแรกก็ได้เริ่มงานกับทางบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทางผู้บริหารแสนสิริ ต้องการลงทุนในเรื่องบิซิเนสแบบใหม่ๆ รวมทั้งการสร้างรูปแบบใหม่ในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นผลพวงมาจากอิทธิพลของไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้คน โดยเขาเข้าไปรับตำแหน่งเป็น Executive adviser
“ธุรกิจอสังหาฯมีประเด็นหลายเรื่องให้คิดเช่น อีกหน่อยถ้าคนสนใจในเรื่อง Sharing Economy มากขึ้น เขายังต้องการเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นที่อยู่อาศัยอยู่อีกไหม ในอนาคตบ้านจะยังเป็นปัจจัย 4 อยู่หรือเปล่า แล้วโลกของการลงทุนในเรื่องอสังหาริมทรัพย์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในเมื่อมีบริษัทอย่าง AirBNBเกิดขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราจะบริหารพรอพเพอร์ตี้อย่างไรไม่ให้ ไป disrupt ชีวิตผู้ซื้อหรือผู้เช่า”
ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆของผู้คนกำลังจะบอกว่าจะเกิดโอกาสอะไรบ้างในการทำธุรกิจในอนาคต และธุรกิจแบบไหนที่อาจจะต้องหยุดทำเพราะไม่มีใครต้องการอีกต่อไป
“คนรุ่นใหม่อาจจะต้องการใช้ชีวิตแบบ Dormitory life เหมือนตอนเรียนหนังสือ เพราะสนุกดีมีเพื่อนด้วย กลับมาจะได้ไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่เงียบๆคนเดียวซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นการวางผังพื้นที่ในห้องหรือพื้นที่ส่วนกลางก็ต้องเปลี่ยนไป หรือต้องมี Co-working Space ด้วยหรือเปล่าถ้าลูกค้าอยากทำงานจากบ้าน”
นอกจากนั้นเรื่องดิจิทัลที่เข้าไปเชื่อมโยงกับเกือบทุกไลฟ์สไตล์ของผู้คนก็จะยังเป็นเรื่องหลักที่แสนสิริต้องให้ความสำคัญ เพื่อคิดค้นการบริการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกบ้านให้มากที่สุด
ซึ่งแน่นอนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้แสนสิริจำเป็นต้อง transform องค์กรด้วย
Strategy , Skills, Culture ต้องเปลี่ยน
ธีรนันท์บอกว่างานของเขาจะโฟกัสในเรื่องการเปลี่ยนแปลงองค์กร และการออกแบบองค์กรให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล องค์กรต้องปรับตัวอย่างไร บทบาทของผู้บริหารต้องเป็นอย่างไร ต้องวางระบบองค์กรแบบไหน
“การเปลี่ยนแปลง ควรเริ่มจากการวาง Strategy ที่เกี่ยวข้องกับ Technology ให้ชัดเจนก่อน โดยวางโมเดลของการทำงาน 3 องค์ประกอบหลัก”
Organization : หมายรวมถึงโครงสร้างการบริหารงาน การตัดสินใจ การวัดผลงาน การให้รางวัลและผลตอบแทน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรมีหน่วยงานที่แยกออกมาโดยเฉพาะ ที่มีทรพยากรที่เพียงพอ และสามารถทำงานอย่างมีอิสระเต็มที่ มีผู้บริหารที่มีความรู้ความเข้าใจ และมีเกราะคุ้มกันที่ดีจากปัญหาการเมืองในองค์กร
Culture : วัฒนธรรมขององค์กรต้องเป็นอย่างไร เพื่อให้คนมีความสามารถอย่างที่องค์กรต้องการ และคนต้อง Open อย่างไรเพื่อให้การทำงาน Speed ขึ้นและกลายเป็น Mini Startup ให้เกิดขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่
Skills : ต้องวิเคราะห์ทักษะของคนทำงานว่าเพียงพอแค่ไหนกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในครั้งนี้ และต้องพัฒนาความรู้ความสามารถของคนอย่างไร เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้
เขากล่าวว่าอีกปัญหาหนึ่งในการทำงานปัจจุบันคือ CEO และ Executive Team ไม่ใช่ผู้บริหารที่ใกล้ชิดกับเทคโนโลยี ดังนั้นบางครั้งจะไม่เข้าใจในโลกดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นและมาเร็วมาก
“ในการทำธุรกิจผู้บริหารระดับสูงอาจจะมีความสามารถสูงมาก แต่พอมาเจอกับเรื่อง เรื่องฟินเทค บล็อกเชน หรือศัพท์ใหม่ๆทางด้านดิจิทัล อาจจะงงๆต้องยอมรับว่าเรื่องพวกนี้บางครั้งเกินขีดความสามารถขององค์กรที่จะรู้จักและเข้าใจ ”
เขายังเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ที่ต้องการเปลี่ยนองค์กร เปลี่ยนกฎเกณฑ์กติกา อะไรต่างๆเพื่อตอบสนองกับธุรกิจทางด้านสตาร์ทอัพ
และยังเข้าไปเป็นกรรมการบริหารของธนชาติประกันภัย ซึ่งเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่เขาบอกว่ามีความคิดที่ก้าวหน้า มีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ และกำลังวางแผนในการเปลี่ยนแปลงองค์กร รวมทั้งยังมีองค์กรใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่กำลังรอเซ็นต์สัญญาคาดว่าจะไปเริ่มงานได้ในเดือนตุลาคม 2560 นี้
ธีรนันท์ยังมีความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องพัฒนาการของ Family Business ในประเทศไทย
“ปัจจุบันธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นที่ 3 ซึ่งมีความท้าทายอยู่แล้วว่าจะเข้าไปรันธุรกิจครอบครัวหรือไม่ ยิ่งมาในยุคนี้โจทย์ยิ่งเปลี่ยนไปเพราะเป็นรุ่นที่ 3ของคนที่เป็นเจนวายที่มีความเห็นไม่ค่อยตรงกับกับคนรุ่นก่อตั้งปู่ย่าและพ่อแม่อยู่แล้ว และยังเป็นรุ่นที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดิจิทัลที่ยากขึ้นไปอีกด้วย”
เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่สะสมมาสมัยทำงานแบงก์ โดยได้ไปร่วมกับเพื่อนๆที่ทำการศึกษาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่นการจัดโครงสร้างบริหารงาน การสร้างธรรมนูญของครอบครัว โครงสร้างการถือครองทรัพย์สินของครอบครัว เป็นอีกงานหนึ่งที่เขารับเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจครอบครัวขนาดกลางถึงใหญ่ด้วย
นอกจากนั้นวันนี้ธีรนันท์ ยังเข้าไปช่วยหน่วยงานภาครัฐทำงานในอีกหลายตำแหน่งคือ การเป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการกํากับสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นกรรมการของดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการปฎิรูปตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 และรองประธาน สมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย TMA
“งานไม่ได้น้อยลงเลยผมยังทำงานเต็มที่ทุกวัน เพียงแต่ทุกงานรู้สึกว่าผมมีอิสระในความคิดในการแก้ไขปัญหา และนำเสนอแนวทางการทำงาน แล้วยังเจอความหลากหลายที่ท้าทายใหม่ๆ แตกต่างจากแวดวงการเงินการธนาคารที่เคยเจอมาตลอดด้วย”
ธีรนันท์กล่าวสรุป ก่อนจะไปช่วยช่างภาพ Marketeer หามุมถ่ายรูปสวยๆในโครงการ “98 Wireless” แฟล็กชิพคอนโดมิเนียมของแสนสิริ บนถนนวิทยุ ซึ่งเป็นสถานที่ให้สัมภาษณ์ในวันนั้น
เรื่อง : อรวรรณ บัณฑิตกุล
ภาพ : เมธี ชูเชิด