ตลอดระยะเวลา 54 ปี ในประเทศไทยเชฟรอน มีนโยบายดำเนินธุรกิจควบคู่ไปพร้อมกับการทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมมาโดยตลอด ภายใต้กรอบด้านสังคม 4E ได้แก่ การสนับสนุนด้านการศึกษา (Education) การส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต (Economic development) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน (Environment and energy conservation) การส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Employee engagement)
ไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัดกล่าวว่าโครงการที่เชฟรอนได้จัดทำอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่๙นั้น มีครบในทุกมิติ เช่นโครงการในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน “โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ซึ่งทำมาตั้งแต่พ.ศ. 2556 ถึงปัจจุบัน
“เรามีลุ่มน้ำป่าสักเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการฯ เนื่องจากเป็นลุ่มน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยมากที่สุด และหวังให้ลุ่มน้ำป่าสักเป็น “ต้นแบบ” การจัดการลุ่มน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ เกิดการขยายผลไปยังลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศ ”
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปในการช่วยฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น สานต่อเป้าหมาย หยุดท่วม หยุดแล้ง ลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน โดยได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ลงสู่การปฏิบัติ ทั้งในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิด “โคก หนอง นา โมเดล” ตามลักษณะภูมิสังคม
โคก หนอง นา โมเดล เพื่อ “ ดิน น้ำ ป่า คน”
หลักการสำคัญ คือพื้นที่ต้นน้ำต้องอนุรักษ์ฟื้นฟู พื้นที่กลางน้ำจัดการกักเก็บน้ำ พื้นที่ปลายน้ำต้องบำบัดป้องกัน ซึ่งโครงการได้มุ่งเน้นฟื้นฟูทั้งทรัพยากร “ดิน น้ำ ป่า คน” ในลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยแนวทางการขับเคลื่อน คือการสร้างคน-สร้างเครือข่าย-สู่การสร้างศูนย์เรียนรู้ จนบรรลุผลขยาย “คน” และ“เครือข่าย” ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสักเกิดสัมฤทธิ์ผล และยังสามารถขยายไปสู่พื้นที่ในลุ่มน้ำอื่นๆ อีก 24 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ
ในปีแรก มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ 9 วัน จากปลายน้ำสู่กลางน้ำ โดยเริ่มเส้นทางจากโรงพยาบาลศิริราช จนถึงวัดชูจิตธรรมาราม อ.วังน้อย จ.อยุธยา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ และชี้ให้เห็นว่าทุกคนมีโอกาสได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตน้ำ ในขณะเดียวกันทุกคนก็สามารถมีส่วนช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ สร้าง-ซ่อมแซมฝาย ปลูกป่าเปียก และจัดทำ โคก หนอง นา โมเดล
ในปีที่ 2 ได้ขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ต้นน้ำจังหวัดเพชรบูรณ์ หนึ่งในพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำป่าสัก ตั้งแต่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ถึงโรงเรียนบ้านหินโง่น จ.เพชรบูรณ์ โดยจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการอบรมวิทยากร เกษตรกร เครือข่าย และการสร้างความเข้มแข็งให้พื้นที่ตัวอย่างจนประสบความสำเร็จในการสร้างต้นแบบวิธีการจัดการน้ำ ที่เรียกว่า “หลุมขนมครก”
ในปีที่ 3 ได้ต่อยอดแนวคิด “หลุมขนมครก” ในพื้นที่ของตัวเอง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาด ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ ออกแบบและลงมือทำได้ด้วยตัวเองตามหลักภูมิสังคม (Geosocial) โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หนึ่งในภาคีเครือข่าย มาช่วยให้คำแนะนำและสอนวิธีการออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องตามขนาดของพื้นที่ ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สภาพของดิน รวมไปถึงความต้องการ กำลังทุนทรัพย์และกำลังกายของเจ้าของพื้นที่ที่ร่วมโครงการ กลายเป็น “หลุมขนมครกในแบบของคุณ” ซึ่งเป็นวิธีการดูแล รักษาและแก้ปัญหาที่เรียบง่าย โดยมีเส้นทางรณรงค์จากโรงเรียนสงครามพิเศษ ถึงป่าซับลังกา จ.ลพบุรี
‘คนต้องมีใจ’ และ ‘เครือข่าย’ ต้องเข้มแข็ง
ล่าสุด สำหรับกิจกรรมในปีนี้ ยังคงต่อยอดแนวทางขับเคลื่อนของโครงการฯ จากการสร้างคน สร้างเครือข่ายสู่การสร้างศูนย์เรียนรู้ โดยสิ่งที่แตกต่างจากปีก่อนๆ คือ การปักหลักของ ‘คนมีใจ’ และ ‘เครือข่าย’ ที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมสร้างศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการน้ำตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ ‘ป่าสักโมเดล’ บนพื้นที่ “ห้วยกระแทก” ขนาด 600 ไร่ ของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี
“ศูนย์เรียนรู้นี้จะจำลองการทำเกษตรในสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน มารวมกันเสมือนเป็นนิทรรศการมีชีวิต อาทิ ตัวอย่างการจัดการน้ำในพื้นที่สูงและพื้นที่ราบ การแก้ปัญหาเขาหัวโล้น การสร้างแท็งก์น้ำยักษ์จากวัสดุจากธรรมชาติ และการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งด้วยวิถีชุมชนตามภูมิสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้หลักกสิกรรมธรรมชาติในฐานต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคน สร้างเครือข่าย และเกิดการขยายผลต่อๆ ไปตามเป้าหมายของโครงการฯ”
ไพโรจน์ มั่นใจว่า ‘ป่าสักโมเดล’ แห่งนี้จะเป็นแหล่งบ่มเพาะสร้าง ‘คนมีใจ’ และ ‘เครือข่าย’ ที่เข้มแข็งต่อไป
สำหรับโครงการอื่นๆที่ตามรอยโครงการพระราชดำริเช่น โครงการ “เชฟรอนรวมใจไทยเพื่อพระดาบส” ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ปี 2549 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนบริจาคเงินเพื่อเป็นหาทุนการศึกษาให้แก่โรงเรียนพระดาบส ซึ่งเป็นโครงการตามกระแสพระราชดำริของในหลวงใรรัชกาลที่ 9 เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้มีความรู้ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเอง
ปี พ.ศ. 2550 ได้จัดโครงการเชฟรอนรวมพลัง สร้างโรงเรียนถวายพ่อ” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 80 พรรษา เชิญชวนคนไทยร่วมบริจาคเงิน 60 ล้านบาท เพื่อให้มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมนำไปจัดซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม มุ่งขยายโอกาสต่อยอดทางการศึกษาให้กับเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลอีกกว่า 1,000 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยบริษัทเชฟรอนได้สนับสนุนมอบทุนให้ในเบื้องต้น 20 ล้าน รวม 80 ล้าน
ตามรอยพ่อ ต่อเนื่อง
วันที่ 5 ธันวาคม 2559 เวลา 9.09 น. ที่ช่อง 5 จัดให้มี ละครเทิดพระเกียรติเรื่อง “ตามรอยพระราชา จากภูผาสู่มหานที” โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในโครงการฯ มาถ่ายทอดเรื่องราวของการตามรอยศาสตร์พระราชาผ่านตัวละคร เคยออกอากาศมาแล้วและจะมีการเพิ่มเติมบางส่วน ซึ่งจะออกกากาศทางช่อง 5
6 ธันวาคม 2559 ณ ลาน Fashion Hall ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอนจะจัดให้มี งานสรุปผลโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 4
ส่วนในปี พ.ศ. 2559-2561ได้วางแผนจัดทำโครงการ “วิจัย การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” ต่อยอดจากโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”
โดย เชฟรอนได้ให้การสนับสนุนการทำงานของศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ITOKmitl) ในการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและเป็นมาตราฐานในทางวิชาการ เนื่องจากการทำงานที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯได้ประสบปัญหาในการติดตามเก็บข้อมูลและประเมินผลงานการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้มีการออกแบบและปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ไปแล้ว แต่ขาดระบบการจัดเก็บข้อมูล จึงไม่สามารถใช้ในการอ้างอิงเชิงวิชาการได้
โดยทางศูนย์ฯ มีแผนจะนำเสนองานวิจัยนี้ในเวทีระดับชาติ ที่จะเป็นงานวิชาการที่ยืนยันในอีกทางหนึ่งถึงทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ ๙ อันเป็นทฤษฎีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก
ผู้บริหารของเชฟรอนย้ำว่าสิ่งหนึ่งที่ทางองค์กรให้ความสำคัญอย่างมากคือทุกๆกิจกรรรมที่ทำต้องกระตุ้นให้พนักงานออกไปมีส่วนร่วมด้วย อย่างปีนี้มีพนักงานไปเข้าร่วมในโครงการ โคกหนองนา แล้วประมาณ 500 คน
พนักงานบริจาค บริษัทจ่ายเพิ่มอีกสองเท่า
โครงการ “เชฟรอนรวมพลัง ทำดีคูณสอง เป็นกิจกรรมที่เชฟรอนสนับสนุนโครงการในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยทำกิจกรรมผ่านเพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนช่วยเหลือสังคม โดยการร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิหรือองค์กรการกุศลต่างๆ ที่ตนเองเลือก ซึ่งบริษัท ฯ จะบริจาคเงินสมทบเป็นจำนวนเท่าตัวของเงินบริจาคพนักงานให้แก่องค์กรนั้นๆ โดยมีหน่วยงานในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ โรงเรียนพระดาบส โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯและศิริราชมูลนิธิ
โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่หลังจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม หลักเกณฑ์ ก็เปลี่ยนแปลงไป โดยทุกยอดบริจาคของพนักงานที่บริจาคให้กับมูลนิธิเหล่านี้บริษัทจะสบทบเงิน เพิ่มให้เป็น3 เท่า
เช่นถ้าพนักงานบริจาค 1 พันบาท เราก็จะเพิ่มให้อีก 2 พันบาท เป็น 3 พันบาท และคาดว่าบริษัทจะสมทบให้ในเงื่อนไขนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2559
“สิ่งที่ผมตั้งใจจะยึดพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างในการทำงานคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ท่านเน้นให้มองในภาพใหญ่ ค่อยๆเป็นค่อยๆไป ค่อยๆสร้างให้เกิดการเรียนรู้ สร้างแรงระเบิดจากข้างใน ให้ทุกคนเห็นประโยชน์ร่วมกัน ช่วยกันดูแล ช่วยกันต่อยอด และการที่ภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้ความร่วมมือช่วยเหลือก็จะยิ่งทำให้โครงการเหล่านี้ เสร็จและเป็นจริงเร็วขึ้น” ไพโรจน์ กล่าวสรุป